แถลงข่าวผลการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินการตามนโยบายของผู้ว่าฯ ด้านโครงสร้างและการบริหารทรัพยากรบุคคล

  • ข่าวประชาสัมพันธ์
  • ผู้เข้าชม : [WPPV-TOTAL-VIEWS]

ข่าวการขับเคลื่อนด้านโครงสร้างและการบริหารทรัพยากรบุคคล

“HR กทม. กำลังจะเปลี่ยนไป”

         กรุงเทพมหานครเตรียมปรับเปลี่ยนงานด้าน HR กทม. เพื่อให้ได้กำลังคนคุณภาพ มีโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังที่เล็ก กะทัดรัด มีการพัฒนาข้าราชการให้มีศักยภาพ เสริมสร้างการบริหารผลงานด้วยหลักความเป็นธรรม ทั้งในเรื่องการแต่งตั้ง เลื่อนระดับ และโยกย้าย มุ่งเน้นการให้บริการโดยนำระบบ Digital เข้ามาใช้ในการบริการประชาชน ขับเคลื่อนและป้องกันปัญหาการร้องเรียนเรื่องทุจริต โดยแต่งตั้งนายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินการตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้านโครงสร้างและการบริหารทรัพยากรบุคคลกรุงเทพมหานคร เพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนให้เป็นไปตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมกำกับ ติดตาม และประเมินผลการขับเคลื่อนนโยบายด้านโครงสร้างและการบริหารทรัพยากรบุคคล

❀ ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีข้าราชการและบุคลากร 4 ประเภท ประกอบด้วย
  • ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 16,000 คน 
  • ข้าราชการกทม.สามัญ จำนวน 23,000 คน
  • ลูกจ้างประจำ จำนวน 32,000 คน  
  • ลูกจ้างชั่วคราว จำนวน 16,000 คน

   ✤ ลูกจ้างกทม. ประกอบด้วย ลูกจ้างชั่วคราวและลูกจ้างประจำ

  • เส้นทางความก้าวหน้า เริ่มจากการเป็นลูกจ้างชั่วคราว เมื่อมีคุณสมบัติครบถ้วน มีผลการประเมินดี หน่วยงานสามารถคัดเลือกขึ้นมาเป็นลูกจ้างประจำ และเมื่อมีอายุงานครบ 5 ปี ทั้งลูกจ้างชั่วคราวและลูกจ้างประจำสามารถสอบภายในเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญได้ Change
  1. ปรับโควตาการขึ้นเป็นลูกจ้างประจำ จาก 1% เป็น 4%
  2. เพิ่มเส้นทางความก้าวหน้า ในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่ใช้ความรู้ ทักษะ กฎหมาย และเทคนิคเฉพาะด้านขึ้นเป็นระดับ ส3 และ ส4 จากเดิมลูกจ้างประจำจะมีระดับเงินเดือนอยู่ใน ส1 และ ส2 ได้แก่ พนักงานขับเครื่องจักรกลขนาดหนัก พนักงานเทศกิจ พี่เลี้ยง พนักงานผ่าและรักษาศพ
  3. การปรับแก้หลักเกณฑ์การคัดเลือกลูกจ้างชั่วคราวเป็นลูกข้างประจำ โดยเน้นประสบการณ์และผลงานเป็นสำคัญ
  4. มีการจ้างบุคคลภายนอก (Outsource) ในงานบริการสาธารณะ เช่น การจัดการขยะ การลอกท่อระบายน้ำ ฯลฯ
❀ การสรรหาบุคลากร

        ปรับเปลี่ยนรูปแบบการสรรหาบุคลากร จากเดิมมีการสรรหาและคัดเลือกบุคคล 3 รูปแบบโดยเน้นการสอบแข่งขัน ปัจจุบันมีรูปแบบการสรรหาเพื่อให้มีกรอบอัตรากำลังด้วยความรวดเร็วในการให้บริการประชาชน ได้แก่ การสอบแข่งขัน การสอบคัดเลือก การคัดเลือก การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างองค์กร (MOU) การจัดทำนักเรียนทุน การคัดเลือกจากบุคลากรการขอใช้บัญชีจากหน่วยงานในสังกัดหรือหน่วยงานอื่น การคัดเลือกในวุฒิที่ขาดแคลน และการคัดเลือกคนพิการ

  • มีการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการสอบ เช่น การรายงานตัวผ่านออนไลน์ การสอบสัมภาษณ์ผ่านออนไลน์ และเตรียมเปิดสอบภาค ก ด้วยระบบออนไลน์
❀ การบริหารผลงาน

        เดิม การดำเนินการคัดเลือกและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ ใช้รูปแบบ ว22 ซึ่งค่อนข้างใช้ดุลยพินิจในการคัดเลือก จึงปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้มีความโปร่งใส เป็นธรรม โดยพิจารณาจากประสบการณ์ ผลสัมฤทธิ์ ด้วยเครื่องมือคัดเลือกที่หลากหลาย Change กรุงเทพมหานครได้นำระบบ OKRs กำหนดในแผนปฏิบัติราชการของหน่วยงาน และเชื่อมโยงการประเมินผลปฏิบัติราชการระดับบุคคล โดยมุ่งเน้นการประเมินในระดับผู้อำนวยการเขต

  • เพิ่มเติมการพัฒนากระบวนงานผ่านระบบ Digital โดยการยกระดับบริการประชาชนผ่านระบบออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น BMA Q BMA OSS Traffy Fondue และพัฒนาระบบงานเจ้าหน้าที่ โดยการใช้ E Sarabun ระบบ E case ระบบ E leave
❀ การทดลองปรับโครงสร้างและระบบงานเขตใหม่

       เดิมกรุงเทพมหานครมีหน่วยงานรองรับในเขต 10 ฝ่าย Change กรุงเทพมหานครได้จัดกลุ่มภารกิจในพื้นที่เป็น 6 กลุ่มภารกิจ มีเป้าหมายให้โครงสร้างเล็ก กะทัดรัดมีประสิทธิภาพ กระชับ ฉับไว โดยออกแบบให้โครงสร้างสามารถให้บริการที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเมือง นำร่องในกลุ่มภารกิจด้านสังคมและคุณภาพชีวิตของสำนักงานเขตนำร่อง (sandbox)  ได้แก่ สำนักงานเขตบางเขน สำนักงานเขตคลองเตย สำนักงานเขตภาษีเจริญ สำนักงานเขตตลิ่งชัน และจะดำเนินการขยายผลในอีก 5 กลุ่มภารกิจ

  • การพัฒนาข้าราชการ เดิม เป็นการพัฒนาด้วยระบบโครงการ Change ผนึกกำลังการพัฒนาร่วมกัน 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ สำนักงาน ก.ก. มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช สถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานคร โดยออกแบบการพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานเส้นเลือดฝอย 5 กลุ่มงาน ได้แก่ นักจัดการเมือง นักจัดการคุณภาพชีวิตเมือง นักจัดการสิ่งแวดล้อมเมือง วิศวกรเมือง และนักจัดการความปลอดภัยเมือง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพผ่านระบบ E-Learning และการพัฒนาแบบ Active Learning ปรับรูปแบบการนำเสนองานผ่าน Project โดยเป็นการเสนอร่วมกันของผู้เข้ารับการพัฒนาเพื่อนำโครงการหรือแนวคิดที่น่าสนใจไปใช้ในการปฏิบัติงาน
❀ ขับเคลื่อนนโยบายโปร่งใส ไม่ส่วย

       เดิม ใช้รูปแบบในการดำเนินการทางวินัย ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการสืบแสวงหาข้อเท็จจริง Change เพิ่มเติมการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ศปท.กทม.) มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นหัวหน้าศูนย์ และศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร (ศปต.กทม.) มีรองปลัดกรุงเทพมหานคร (นายเฉลิมพล โชตินุชิต) เป็นผู้อำนวยการศูนย์ สั่งราชการสำนักงาน ก.ก. 

  • มีการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายภาคราชการ ได้แก่ สำนักงาน ปปช. ผ่านชมรม Strong การประเมิน ITA เป็นต้น และภาคเอกชน ผ่านการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ACT) และ ความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยผ่านโครงการ Open Bangkok
  • มีการรวมหลักเกณฑ์การดำเนินการทางวินัย เป็น กฎ ก.ก. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2565 ระหว่าข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และบุคลากรกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินการที่รวดเร็ว ลดกระบวนงาน
❀ Change

       ปรับโฉมงานด้าน HR กทม. โดยนำงาน Human Development รวมกับ Human Resource Management เพื่อลดความซ้ำซ้อน เพิ่มความเป็นเอกภาพ มีทิศทางการบริหารทรัพยากรบุคคลในแนวทางเดียวกัน และดำเนินการตามยุทธศาสตร์การบริหารทรัพยากรบุคคลที่ตอบสนองนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร