ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร

คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร หรือเรียกโดยย่อว่า “ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร” จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2554 หมวด 2 มาตรา 30 – 39 มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะต่อ ก.ก. เพื่อให้ ก.ก. ดำเนินการจัดให้มีหรือปรับปรุงนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลของกรุงเทพมหานครในส่วนที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ระบบคุณธรรม พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์และเรื่องร้องทุกข์ พิจารณาเรื่อง การคุ้มครองระบบคุณธรรม ออกกฎ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร ข้อบังคับ ระเบียบ หลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2554 แต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร กำหนด เพื่อเป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ กรุงเทพมหานคร หรือเป็นกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ กรุงเทพมหานคร และปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนบัญญัติให้เป็นอำนาจของ ก.พ.ค. เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2554 ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร จึงเป็นด่านสุดท้ายของฝ่ายบริหารในการควบคุมตรวจสอบและ อำนวยความเป็นธรรมในการบริหารงานบุคคลของกรุงเทพมหานคร เพราะเมื่อผ่านการพิจารณาวินิจฉัย ของ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร แล้ว หากผู้อุทธรณ์หรือผู้ร้องทุกข์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยทั้งหมดหรือบางส่วนสามารถใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้นต่อไปได้

เดิมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร หรือ ก.ก. (ปัจจุบัน คือ คณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร) โดยทำหน้าที่ 3 ลักษณะ คือ

  1. ลักษณะนิติบัญญัติ โดยออกกฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีการในการบริหารงานบุคคล
  2. ลักษณะบริหาร โดยพิจารณาอนุมัติเรื่องการบริหารงานบุคคลที่ส่วนราชการเจ้าสังกัดขอมา
  3. ลักษณะตุลาการ โดยพิจารณาการลงโทษทางวินัย อุทธรณ์ และเรื่องร้องทุกข์บางกรณี

การให้คณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (ก.ก.) ในขณะนั้น มีบทบาททั้ง 3 ลักษณะ จึงมีความไม่เหมาะสม 2 ประการ คือ

  1. ทำให้คณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (ก.ก.) เป็นองค์กรที่ออกกฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์และวิธีการเอง ปฏิบัติเอง และตัดสินชี้ขาดเอง ทำให้หลักประกันความเป็นธรรมของข้าราชการหย่อนไป
  2. ทำให้คณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (ก.ก.) เป็นองค์กรที่ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ฝ่ายบริหาร และควบคุมฝ่ายบริหาร ไม่สามารถให้ความเป็นธรรมแก่ข้าราชการได้เต็มที่ เนื่องจากคณะกรรมการข้าราชการ กรุงเทพมหานคร (ก.ก.) ในขณะนั้น เป็นองค์กรในกำกับของฝ่ายบริหารมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองเป็นประธานกำกับอยู่ ซึ่งในการพิจารณาอุทธรณ์และเรื่องร้องทุกข์ต้องเสนอความเห็น ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะนายกรัฐมนตรีสั่งการ คณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (ก.ก.) ไม่มีอิสระในการใช้ดุลยพินิจที่จะคุ้มครองความเป็นธรรมและความมั่นคงในการดำรงสถานภาพ ของข้าราชการได้เพียงพอ

ดังนั้น ในการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของกรุงเทพมหานครจึงกำหนดให้มีองค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 288 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า ในการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีองค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรม ของข้าราชการส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างระบบคุ้มครองคุณธรรมและจริยธรรมในการบริหารงานบุคคล ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2554 จึงได้บัญญัติให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร (ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร) ขึ้น ประกอบด้วยกรรมการ จำนวน 5 คน โดยต้องทำงานเต็มเวลา มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี นับตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร เป็นองค์กรที่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร ทำหน้าที่พิทักษ์ระบบคุณธรรมโดยยกบทบาทลักษณะตุลาการจากคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (ก.ก.) ไปเป็นของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร (ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร) เพื่อทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์และเรื่องร้องทุกข์ และคุ้มครองระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการกรุงเทพมหานคร

ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร มาจากการคัดเลือกโดยคณะกรรมการคัดเลือกกรรมการ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธาน รองประธานศาลฎีกาที่ได้รับมอบหมายจากประธานศาลฎีกาหนึ่งคน กรรมการ ก.ก. ผู้ทรงคุณวุฒิหนึ่งคนซึ่งได้รับเลือกโดย ก.ก. เป็นกรรมการ และหัวหน้าสำนักงาน ก.ก. เป็นกรรมการและเลขานุการ

อำหนาจหน้าที่ของ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร

คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร (ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร) มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2554 ดังต่อไปนี้

  1. เสนอแนะต่อ ก.ก. เพื่อให้ ก.ก. ดำเนินการจัดให้มีหรือปรับปรุงนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลของกรุงเทพมหานครในส่วนที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ระบบคุณธรรม
  2. พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์
  3. พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์
  4. พิจารณาเรื่องการคุ้มครองระบบคุณธรรม
  5. ออกกฎ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร ข้อบังคับ ระเบียบ หลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อปฏิบัติการ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2554 กฎ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร และข้อบังคับเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
  6. แต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร กำหนด เพื่อเป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ กรุงเทพมหานคร หรือเป็นกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ กรุงเทพมหานคร
  7. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ ของ ก.พ.ค. ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้

จากเจตนารมณ์ของกฎหมายที่กำหนดให้ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร เป็นองค์กรในรูปแบบของคณะกรรมการ โดยมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา ทำให้การพิทักษ์ระบบคุณธรรมของ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร เป็นไปเพื่อรักษาประโยชน์ของทางราชการควบคู่ไปกับการประกันความเป็นธรรมให้แก่ข้าราชการกรุงเทพมหานคร ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร จึงปฏิบัติหน้าที่ภายใต้หลักประกันความเป็นมืออาชีพ กล่าวคือ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร ปฏิบัติงานเป็นการประจำ และมีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ด้านการบริหารงานบุคคล เนื่องจากมีการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร เพื่อให้เป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และมีหลักความเป็นอิสระและเป็นกลางในการพิจารณาวินิจฉัย เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือก ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นกลางและไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมือง ทำให้ ก.พ.ค.กรุงเทพมหานคร ไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของหน่วยงานใด และ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร มีวาระการดำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียว อีกทั้งใช้หลักฟังความสองฝ่ายและหลักประกันความเป็นธรรมในการแสวงหาข้อเท็จจริงด้วยระบบไต่สวนเช่นเดียวกับศาลปกครอง เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้โต้แย้งข้อกล่าวอ้างของอีกฝ่าย และมีกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนให้ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์และเรื่องร้องทุกข์ ตลอดจนคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร มีผลยุติเป็นที่สุดผูกพันผู้บังคับบัญชาให้ต้องปฏิบัติตาม

การอุทธรณ์

  1. ความหมาย
    การอุทธรณ์ หมายถึง การที่ผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการตามกรณีที่กฎหมายกำหนด ร้องขอรับความยุติธรรมจากองค์กรผู้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยให้ยกเรื่องของตนขึ้นพิจารณาใหม่เพื่อให้เป็นไปในทางที่เป็นคุณแก่ตน
  2. เงื่อนไขในการอุทธรณ์
    การอุทธรณ์เป็นไปตามมาตรา 60 – 62 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานคร และบุคลากรกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2554 ประกอบกับกฎ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการอุทธรณ์ และพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ. 2555

2.1 ผู้มีสิทธิอุทธรณ์
(1) ผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัย ได้แก่ ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ลดเงินเดือน ปลดออกจากราชการ หรือไล่ออกจากราชการ
(2) ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด เช่น เป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้เจ็บป่วยจนไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ราชการของตนได้ โดยสม่ำเสมอ เป็นผู้หย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือเป็นผู้ที่มีมลทินหรือมัวหมอง ในกรณีที่ถูกสอบสวน เป็นต้น
ผู้มีสิทธิอุทธรณ์ต้องอุทธรณ์เพื่อตนเองเท่านั้น ไม่อาจอุทธรณ์แทนผู้อื่นได้
2.2 การอุทธรณ์
การอุทธรณ์คําสั่งลงโทษทางวินัยหรือคําสั่งให้ออกจากราชการต้องทําเป็นหนังสือถึงประธานกรรมการ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร โดยใช้ถ้อยคำสุภาพ และมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
(1) ชื่อ ตำแหน่ง สังกัด และที่อยู่สำหรับการติดต่อเกี่ยวกับการอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์
(2) คำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการอุทธรณ์ และวันที่รับทราบคำสั่ง
(3) ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ผู้อุทธรณ์ยกขึ้นเป็นข้อคัดค้านคำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการอุทธรณ์
(4) คำขอของผู้อุทธรณ์
(5) ลายมือชื่อของผู้อุทธรณ์
ในกรณีเป็นการอุทธรณ์โดยทายาทหรือผู้ได้รับมอบหมายให้อุทธรณ์แทน ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นให้ปรับสาระสำคัญในหนังสืออุทธรณ์ให้เหมาะสม โดยอย่างน้อยควรมีสาระสำคัญให้สามารถเข้าใจได้ตามหัวข้อข้างต้น
ผู้อุทธรณ์จะมอบหมายให้ทนายความ หรือบุคคลอื่นซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว ทำการอุทธรณ์แทนได้ กรณีมีเหตุจำเป็น ดังนี้
(1) เจ็บป่วยจนไม่สามารถอุทธรณ์ด้วยตนเองได้
(2) อยู่ในต่างประเทศและคาดหมายได้ว่าไม่อาจอุทธรณ์ด้วยตนเองได้ทันเวลาที่กำหนด
(3) มีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร หรือองค์คณะวินิจฉัยเห็นสมควร
2.3 การยื่นอุทธรณ์
(1) ผู้อุทธรณ์ไม่ต้องทำเรื่องเสนอผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น แต่ให้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อพนักงานผู้รับอุทธรณ์ที่กองพิทักษ์ระบบคุณธรรม สำนักงาน ก.ก. โดยให้ถือวันที่รับหนังสือตามหลักฐานการลงทะเบียนรับหนังสือตามระเบียบว่าด้วยงานสารบรรณเป็นวันที่ยื่นหนังสืออุทธรณ์
(2) การส่งหนังสืออุทธรณ์โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ได้ โดยให้ถือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางประทับตรารับที่ซองหนังสืออุทธรณ์เป็นวันยื่นหนังสืออุทธรณ์
ผู้อุทธรณ์อาจถอนอุทธรณ์ที่ยื่นไว้แล้ว ก่อนที่องค์คณะวินิจฉัยมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นก็ได้ โดยทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้อุทธรณ์ หรืออาจถอนด้วยวาจาต่อหน้าองค์คณะวินิจฉัยก็ได้
2.4 ระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์
(1) สำหรับผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบคำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการอุทธรณ์ ซึ่งโดยทั่วไปจะถือว่าวันทราบคำสั่งคือวันที่ผู้ถูกสั่งลงโทษหรือสั่งให้ออกจากราชการลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่ง
(2) สำหรับการอุทธรณ์แทน มี 2 กรณี ได้แก่
ก. กรณีที่ผู้มีสิทธิอุทธรณ์ถึงแก่ความตายโดยที่ยังไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ ทายาทของผู้มีสิทธิอุทธรณ์ ต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 90 วัน นับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบคำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการอุทธรณ์ หรือภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้มีสิทธิอุทธรณ์ถึงแก่ความตาย
ข. กรณีที่ผู้อุทธรณ์ได้ยื่นอุทธรณ์ไว้แล้วได้ถึงแก่ความตายก่อนการวินิจฉัยอุทธรณ์ ทายาท ผู้จัดการมรดก ผู้รับสิทธิของผู้อุทธรณ์ หรือผู้มีส่วนได้เสีย อาจมีคำขอเข้ามาแทนที่หรือองค์คณะวินิจฉัยเรียกเข้ามาเนื่องจากคู่กรณีในอุทธรณ์มีคำขอ กรณีนี้ต้องยื่นคำขอเป็นหนังสือต่อองค์คณะวินิจฉัยภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ผู้อุทธรณ์ถึงแก่ความตาย
2.5 การนับระยะเวลาอุทธรณ์
(1) ให้ถือว่าวันที่ผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัย หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่ง เป็นวันรับทราบคําสั่ง
(2) ในกรณีที่ไม่มีการลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งตาม (1) แต่มีการแจ้งคำสั่งให้ทราบกับมอบสำเนาคำสั่งแล้วทำบันทึกลงวัน เดือน ปี เวลา และสถานที่ที่แจ้ง โดยลงลายมือชื่อผู้แจ้ง พร้อมทั้งพยานรู้เห็นไว้ เป็นหลักฐานแล้วให้ถือวันที่แจ้งนั้นเป็นวันรับทราบคําสั่ง
(3) ในกรณีที่ไม่อาจแจ้งคำสั่งตาม (2) และได้แจ้งเป็นหนังสือส่งสำเนาคำสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ณ ที่อยู่ของผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ ซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการ ให้ส่งสำเนาคำสั่งไปให้ 2 ฉบับ เพื่อให้ผู้ถูกสั่งลงโทษตาม (1) เก็บไว้เป็นหลักฐาน 1 ฉบับ และให้ลงลายมือชื่อ และ วัน เดือน ปี ที่รับทราบคำสั่งเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน 1 ฉบับ ในกรณีเช่นนี้เมื่อล่วงพ้น 30 วัน นับแต่วันที่ปรากฏในใบตอบรับทางไปรษณีย์ลงทะเบียนว่าผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการได้รับเอกสารดังกล่าวหรือมีผู้รับแทนแล้ว แม้ยังไม่ได้รับสำเนาคำสั่งฉบับที่ให้ผู้ถูกลงโทษตาม (1) ลงลายมือชื่อ และวัน เดือน ปี ที่รับทราบคำสั่ง ตาม (1) กลับคืนมา ให้ถือว่าผู้ถูกลงโทษตาม (1) ได้รับทราบคำสั่งแล้ว

  1. การพิจารณาอุทธรณ์
    3.1 ผู้มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์
    คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ กรุงเทพมหานคร ที่ตั้งโดย ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย
    (1) กรรมการ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร เป็นประธานกรรมการ
    (2) กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ จำนวน 2 คน เป็นกรรมการ
    (3) นิติกร กองพิทักษ์ระบบคุณธรรม สำนักงาน ก.ก. ที่ได้รับมอบหมายเป็นนิติกรผู้รับผิดชอบสำนวน
    ทั้งนี้ ประธานกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ กรุงเทพมหานคร จะต้องแจ้งคำสั่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัย อุทธรณ์ กรุงเทพมหานคร ให้ผู้อุทธรณ์ทราบ โดยให้ลงลายมือชื่อและวันที่รับทราบไว้เป็นหลักฐาน แล้วมอบสำเนาคำสั่งให้ไว้ 1 ฉบับ หรือกรณีส่งคำสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามที่อยู่ของผู้อุทธรณ์ หากพ้น 15 วัน นับแต่วันส่งสำเนาคำสั่งดังกล่าว ให้ถือว่าผู้อุทธรณ์รับทราบคำสั่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ กรุงเทพมหานคร แล้ว
    3.2 การอุทธรณ์ที่ห้ามรับไว้พิจารณา
    (1) เป็นเรื่องที่ไม่อาจอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร ได้ ตามมาตรา 60 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2554
    (2) ผู้อุทธรณ์มิใช่เป็นผู้มีสิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา 60 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการ กรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2554
    (3) เป็นอุทธรณ์ที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 60 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2554
    (4) เป็นเรื่องที่ได้เคยมีการอุทธรณ์และได้มีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว
    (5) เป็นกรณีอุทธรณ์ที่ยังไม่ชัดเจนหรือยังมีการดำเนินการโดยไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ตามข้อ 48 (2) ของกฎ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ. 2555 และกรณีอุทธรณ์ที่ห้ามรับไว้พิจารณาตามข้อ 49 ของกฎ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร ฉบับเดียวกัน
    สำหรับทายาทผู้มีสิทธิยื่นอุทธรณ์แทน หากมีกรณีตามที่กำหนดไว้ (1) ถึง (5) ให้ถือว่าเป็นอุทธรณ์ ที่ห้ามรับไว้พิจารณาเช่นกัน
    3.3 การคัดค้านกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ กรุงเทพมหานคร
    (1) รู้เห็นเหตุการณ์ในการกระทำผิดวินัยที่ผู้อุทธรณ์ถูกลงโทษหรือการกระทำที่ผู้อุทธรณ์ถูกสั่ง ให้ออกจากราชการ
    (2) มีส่วนได้เสียในการกระทำผิดวินัยที่ผู้อุทธรณ์ถูกลงโทษหรือการกระทำที่ผู้อุทธรณ์ถูกสั่งให้ออก จากราชการ
    (3) มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้อุทธรณ์
    (4) เป็นผู้กล่าวหา หรือเป็นหรือเคยเป็นผู้บังคับบัญชาผู้สั่งลงโทษหรือสั่งให้ออกจากราชการ
    (5) เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการทางวินัยหรือการสั่งให้ออกจากราชการที่ผู้อุทธรณ์ ถูกลงโทษ หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ
    (6) มีความเกี่ยวพันทางเครือญาติหรือทางการสมรสกับบุคคลตาม (1) (2) (3) หรือ (4) อันอาจก่อให้เกิด ความไม่เป็นธรรมแก่ผู้อุทธรณ์
    การคัดค้านกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ กรุงเทพมหานคร ผู้อุทธรณ์ต้องทำเป็นหนังสือยื่นต่อประธานกรรมการ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร ภายใน 7 วัน นับแต่วันรับทราบคำสั่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ กรุงเทพมหานคร (ก่อนการพิจารณาอุทธรณ์) ทำให้กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ กรุงเทพมหานคร ผู้ที่ถูกคัดค้านต้องงดการปฏิบัติหน้าที่ไว้จนกว่าประธานกรรมการ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร จะมีการชี้ขาดในเรื่องการคัดค้านนั้นแล้ว
    3.4 การขอแถลงด้วยวาจา
    ผู้อุทธรณ์มีสิทธิขอแถลงการณ์ด้วยวาจาในหนังสืออุทธรณ์หรือยื่นขอภายใน 30 วัน นับแต่วันยื่นหนังสืออุทธรณ์ ในกรณีที่ผู้อุทธรณ์ขอแถลงการณ์ด้วยวาจา ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร จะมีหนังสือแจ้งผู้บังคับบัญชาผู้ออก คำสั่งลงโทษ เพื่อให้มาแถลงแก้ในวันที่มีการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งหากผู้บังคับบัญชา ไม่ประสงค์จะแถลงแก้ก็ได้ แต่ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร ทราบ
    3.5 การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย
    (1) ถ้าเห็นว่าการสั่งลงโทษดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายและระดับโทษแล้ว ให้ยกอุทธรณ์
    (2) ถ้าเห็นว่าการสั่งลงโทษดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ยกเลิกคำสั่งและให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการเสียใหม่ให้ถูกต้อง เช่น กรณีที่เห็นว่าเป็นมูลกรณีวินัยร้ายแรงแต่ยังมิได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ก็มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงได้
    (3) ถ้าเห็นว่าการดำเนินการทางวินัยถูกต้องตามกฎหมาย และผู้อุทธรณ์ควรได้รับโทษเบาลง ให้มีคำวินิจฉัยให้ลดโทษเป็นสถานโทษหรืออัตราโทษที่เบาลง แต่ถ้าเห็นว่าผู้อุทธรณ์กระทำผิดวินัย อย่างร้ายแรงจะลดโทษต่ำกว่าปลดออกไม่ได้
    (4) ถ้าเห็นว่าการดำเนินการทางวินัยถูกต้องตามกฎหมาย และเห็นว่าการกระทำของผู้อุทธรณ์ ไม่เป็นความผิดวินัย หรือพยานหลักฐานยังฟังไม่ได้ว่าผู้อุทธรณ์กระทำผิดวินัย ให้มีคำวินิจฉัยให้ยกโทษ
    (5) ถ้าเห็นว่าข้อความในคำสั่งลงโทษไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม ให้มีคำวินิจฉัยให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความให้ถูกต้องเหมาะสม
    การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้เพิ่มโทษไม่ได้ เว้นแต่ได้รับแจ้งจาก ก.ก. ว่าสมควรเพิ่มโทษ จึงจะมีคำวินิจฉัยให้เพิ่มโทษผู้อุทธรณ์ได้
    3.6 การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งให้ออกจากราชการ
    (1) ถ้าเห็นว่าการสั่งให้ออกจากราชการดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายและเหมาะสมแก่กรณีแล้ว ให้ยกอุทธรณ์
    (2) ถ้าเห็นว่าการสั่งให้ออกจากราชการดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ยกเลิกคำสั่งและ ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการเสียใหม่ให้ถูกต้อง
    (3) ถ้าเห็นว่าการสั่งให้ออกจากราชการถูกต้องตามกฎหมาย และเห็นว่ายังไม่มีเหตุที่จะให้ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการในกรณีเช่นนี้ ให้ยกเลิกคำสั่งและให้ผู้อุทธรณ์กลับเข้ารับราชการต่อไป
    (4) ถ้าเห็นว่าข้อความในคำสั่งให้ออกจากราชการไม่ถูกต้องเหมาะสม ให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความ ให้ถูกต้องเหมาะสม
    3.7 ระยะเวลาในการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์
    การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ประธานกรรมการ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร ได้รับอุทธรณ์ เว้นแต่มีเหตุขัดข้องที่ทำให้การพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ก็ให้ขยายระยะเวลาได้อีกซึ่งไม่เกิน 2 ครั้ง โดยแต่ละครั้งจะต้องไม่เกิน 60 วัน และให้บันทึกเหตุขัดข้องให้ปรากฏไว้ด้วย
    เมื่อ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุ ตามมาตรา 52 มาตรา 53 หรือมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2554 แล้วแต่กรณี ดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หากผู้บังคับบัญชาผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร ให้ถือว่าเป็นการจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น
    ในส่วนของผู้อุทธรณ์ หากไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร ให้ฟ้องคดี ต่อศาลปกครองชั้นต้นภายใน 90 วันนับแต่วันที่ทราบหรือถือว่าทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร

การร้องทุกข์

  1. ความหมาย
    การร้องทุกข์ หมายถึง การที่ข้าราชการกรุงเทพมหานครร้องขอความเป็นธรรม เนื่องจากเห็นว่า ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติต่อตนโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ปฏิบัติต่อตนให้ถูกต้อง ทำให้เกิความคับข้องใจและประสงค์จะให้มีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนโดยเร็ว
  2. เงื่อนไขในการร้องทุกข์
    การร้องทุกข์เป็นไปตามมาตรา 63 – 65 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานคร และบุคลากรกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2554 ประกอบกับกฎ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2555 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564

2.1 ผู้มีสิทธิร้องทุกข์
ข้าราชการกรุงเทพมหานครผู้มีความคับข้องใจจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชา โดยไม่ประสงค์จะปรึกษาหารือกับผู้บังคับบัญชา หรือได้ปรึกษาหารือแล้วแต่ไม่ได้รับคำชี้แจงหรือได้รับ คำชี้แจงแล้วแต่คำชี้แจงนั้นไม่เป็นที่พอใจ ผู้นั้นมีสิทธิร้องทุกข์ได้
2.2 เหตุที่จะร้องทุกข์
ความคับข้องใจอันเป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์นั้น ต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือปฏิบัติ หรือไม่ปฏิบัติอื่นใด โดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระ สำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะ เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดขึ้นเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
(2) ไม่มอบหมายงานให้ปฏิบัติ
(3) ประวิงเวลา หรือหน่วงเหนี่ยวการดำเนินการบางอย่างอันเป็นเหตุให้เสียสิทธิหรือไม่ได้รับสิทธิ ประโยชน์อันพึงมีพึงได้ในเวลาอันสมควร
(4) ไม่เป็นไปตามหรือขัดกับระบบคุณธรรมตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการ กรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2554
2.3 ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์
(1) ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไป
ก. กรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากผู้บังคับบัญชาที่ต่ำกว่าผู้อำนวยการสำนักหรือหัวหน้าสำนักงาน ก.ก. ให้ร้องทุกข์ต่อผู้อำนวยการสำนักหรือหัวหน้าสำนักงาน ก.ก. แล้วแต่กรณี และให้ผู้อำนวยการสำนักหรือหัวหน้าสำนักงาน ก.ก. แล้วแต่กรณี เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์
ข. กรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากผู้บังคับบัญชาที่ต่ำกว่าเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร หัวหน้าสำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดสำนักปลัดกรุงเทพมหานคร หรือผู้อำนวยการเขต ให้ร้องทุกข์ต่อเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร หัวหน้าสำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้อำนวยการเขตแล้วแต่กรณี และให้เลขานุการ สภากรุงเทพมหานคร หัวหน้าสำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หัวหน้าส่วนราชการ ในสังกัดสำนักปลัดกรุงเทพมหานคร หรือผู้อำนวยการเขต แล้วแต่กรณี เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์
ค. กรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร หัวหน้าสำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดสำนักปลัดกรุงเทพมหานคร ให้ร้องทุกข์ต่อปลัดกรุงเทพมหานครและให้ปลัดกรุงเทพมหานครเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์
(2) ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร
กรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนัก หัวหน้าสำนักงาน ก.ก. หรือผู้อำนวยการเขต ให้ร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร และให้ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์
2.4 วิธีการร้องทุกข์
(1) การร้องทุกข์ให้ร้องทุกข์สำหรับตนเองเท่านั้น จะร้องทุกข์แทนผู้อื่นไม่ได้ ผู้ร้องทุกข์จะมอบหมายผู้อื่นให้ร้องทุกข์แทนได้กรณีมีเหตุจำเป็น ดังนี้
ก. เจ็บป่วยจนไม่สามารถร้องทุกข์ได้ด้วยตนเอง
ข. อยู่ในต่างประเทศและคาดหมายได้ว่าไม่อาจร้องทุกข์ได้ทันภายในเวลาที่กำหนด
ค. มีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์เห็นสมควร
(2) ให้ทำคำร้องทุกข์เป็นหนังสือยื่นต่อผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบ หรือถือว่าทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์ โดยคำร้องให้ใช้ถ้อยคำสุภาพและอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญ ดังนี้
ก. ชื่อ ตำแหน่ง สังกัด และที่อยู่สำหรับติดต่อเกี่ยวกับการร้องทุกข์ของผู้ร้องทุกข์
ข. การปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์
ค. ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ผู้ร้องทุกข์เห็นว่าเป็นปัญหาของเรื่องร้องทุกข์
ง. คำขอของผู้ร้องทุกข์
จ. ลายมือชื่อของผู้ร้องทุกข์ หรือผู้ได้รับมอบหมายให้ร้องทุกข์แทนกรณีที่จำเป็น
(3) ผู้ร้องทุกข์ต้องทำสำเนาคำร้องทุกข์และหลักฐานที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ร้องทุกข์รับรองสำเนาถูกต้อง 1 ชุด แนบพร้อมคำร้องทุกข์ กรณีที่ไม่อาจแนบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้ให้ระบุเหตุที่ไม่อาจแนบพยานหลักฐานไว้ด้วย
(4) กรณีที่มีเหตุจำเป็นต้องมอบหมายให้บุคคลอื่นร้องทุกข์แทน หรือกรณีมีการแต่งตั้งทนายความ หรือบุคคลอื่นดำเนินการแทนในขั้นตอนใด ๆ ในกระบวนการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ ผู้ร้องทุกข์ต้อง แนบหลักฐานการมอบหมายหรือการแต่งตั้งมาพร้อมกับคำร้องทุกข์นั้นด้วย
(5) การร้องทุกข์ต้องยื่นต่อผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบหรือถือว่า ทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์ ซึ่งโดยทั่วไปถือว่าวันที่ผู้มีสิทธิร้องทุกข์ลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งเป็นวันทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์
2.5 การยื่นคําร้องทุกข์
ผู้ร้องทุกข์อาจนำหนังสือร้องทุกข์มายื่นเอง หรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ได้และให้ถือว่าวันที่ ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางประทับตรารับที่ซองหนังสือร้องทุกข์เป็นวันยื่นคำร้องทุกข์ หรือยื่นต่อผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์
ผู้ร้องทุกข์สามารถถอนคำร้องทุกข์ที่ยื่นไว้แล้วได้ แต่ต้องก่อนที่ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์จะมี คำวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดในเรื่องร้องทุกข์นั้น โดยทำเป็นหนังสือขอถอนคำร้องทุกข์ลงลายมือชื่อผู้ร้องทุกข์
2.6 การนับระยะเวลาร้องทุกข์
(1) ในกรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากการที่ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งเป็นหนังสือให้ถือว่าวันที่ผู้มีสิทธิร้องทุกข์ลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งเป็นวันทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์
(2) ในกรณีที่ไม่มีการลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งตาม (1) แต่มีการแจ้งคำสั่งให้ทราบพร้อมสําเนาคําสั่ง และบันทึกวัน เดือน ปี เวลา สถานที่ที่แจ้ง โดยลงลายมือชื่อผู้แจ้งพร้อมทั้งพยานรู้เห็นไว้เป็นหลักฐานแล้ว ให้ถือวันที่แจ้งนั้นเป็นวันทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์
(3) ในกรณีที่ไม่อาจแจ้งคำสั่งตาม (2) และได้แจ้งเป็นหนังสือส่งสำเนาคำสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ณ ที่อยู่ซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการ ให้ส่งสำเนาคำสั่งไป 2 ฉบับ เพื่อให้เก็บไว้เป็นหลักฐาน 1 ฉบับ และ ให้ลงลายมือชื่อ และวัน เดือน ปี ที่รับทราบคำสั่ง แล้วส่งกลับคืนเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน 1 ฉบับ กรณีเช่นนี้ เมื่อล่วงพ้น 30 วัน นับแต่วันที่ปรากฏในใบตอบรับทางไปรษณีย์ลงทะเบียนว่ามีผู้รับแล้ว แม้ยังไม่ได้รับสำเนาคำสั่งฉบับที่ให้ลงลายมือชื่อ และวัน เดือน ปี ที่รับทราบคำสั่งกลับคืนมา ก็ให้ถือว่าผู้มีสิทธิร้องทุกข์ได้รับทราบคำสั่งอันเป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์แล้ว
(4) ในกรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาโดยไม่มีคำสั่ง เป็นหนังสือให้ถือวันที่มีหลักฐานยืนยันว่าผู้มีสิทธิร้องทุกข์รับทราบหรือควรรับทราบคำสั่งที่ไม่เป็นหนังสือนั้นเป็นวันทราบ เหตุแห่งการร้องทุกข์
(5) ในกรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาโดยไม่ได้มีคำสั่งอย่างใด ให้ถือวันที่ผู้ร้องทุกข์ควรได้ทราบถึงการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาดังกล่าวเป็นวันทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์
สำหรับเวลาเริ่มต้นให้นับวันถัดจากวันแรกแห่งเวลานั้นเป็นวันเริ่มนับระยะเวลา ส่วนเวลาสิ้นสุด ถ้าวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาตรงกับวันหยุดราชการให้นับวันเริ่มเปิดทำการใหม่เป็นวันสุดท้ายแห่งระยะเวลา
2.7 การพิจารณาเรื่องร้องทุกข์
(1) ผู้ร้องทุกข์มีสิทธิขอแถลงการณ์ด้วยวาจา และหากผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ หรือคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ กรุงเทพมหานคร เห็นว่าไม่จำเป็นแก่การพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์จะไม่ให้แถลงการณ์ด้วยวาจาก็ได้ แต่ให้บันทึกเหตุผลไว้ด้วย ในกรณีที่นัดให้ผู้ร้องทุกข์มาแถลงการณ์ด้วยวาจาให้แจ้งผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ทราบเพื่อให้มาแถลงแก้ด้วยวาจาในการพิจารณาครั้งนั้น
(2) กรณียื่นเรื่องร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์พิจารณาเรื่องร้องทุกข์ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันได้รับคำร้องทุกข์ หากไม่แล้วเสร็จให้ขยายเวลาได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน โดยให้บันทึกเหตุผลความจำเป็นที่ต้องขยายไว้ด้วย
(3) กรณียื่นเรื่องร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร ให้พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันได้รับคำร้องทุกข์ หากไม่แล้วเสร็จให้ขยายเวลาได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน โดยให้บันทึกเหตุความจำเป็นที่ต้องขยายไว้ด้วย
(4) การคัดค้านผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ กรุงเทพมหานคร ต้องมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
ก. เป็นผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุให้เกิดความคับข้องใจ หรือเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้บังคับบัญชาดังกล่าว
ข. มีส่วนได้เสียในเรื่องที่ร้องทุกข์
ค. มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ร้องทุกข์
ง. มีความเกี่ยวพันทางเครือญาติหรือทางสมรสกับบุคคลตาม ก. ข. หรือ ค. อันอาจก่อให้เกิด ความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ร้องทุกข์
การคัดค้านผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ให้ยื่นต่อผู้บังคับบัญชาของผู้ร้องทุกข์เหนือ ผู้ถูกคัดค้าน กรณีผู้ถูกคัดค้านเป็นปลัดกรุงเทพมหานครให้ยื่นคำคัดค้านต่อหัวหน้าสำนักงาน ก.ก. เพื่อให้ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร เป็นผู้พิจารณาคำคัดค้าน
การคัดค้านกรรมการวินิจฉัยนร้องทุกข์ กรุงเทพมหานคร ต้องทำเป็นหนังสือยื่นต่อประธานกรรมการ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร ภายใน 7 วันนับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบคำสั่งตั้งคณะกรรมการ วินิจฉัยร้องทุกข์ กรุงเทพมหานคร
(5) การวินิจฉัยร้องทุกข์
ก. ถ้าเห็นว่าเป็นคำร้องทุกข์ที่ดำเนินการโดยถูกต้อง และเป็นคำร้องทุกข์ที่รับไว้พิจารณาได้ ให้มีคำสั่ง รับคำร้องทุกข์ไว้พิจารณา
ข. ถ้าเห็นว่าคำร้องทุกข์ที่ยังไม่ชัดเจนหรือมีการดำเนินการโดยไม่ถูกต้อง ก็ให้มีคำสั่งให้ ดำเนินการใหม่ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็ให้พิจารณาวินิจฉัยต่อไป
ค. ถ้าเห็นว่าเป็นคำร้องทุกข์ที่ไม่อาจรับไว้พิจารณา ให้จำหน่ายเรื่องร้องทุกข์ออกจากสารบบ
2.8 คำวินิจฉัยร้องทุกข์
ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ ได้แก่ ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ และ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร มีอำนาจมีคำวินิจฉัยร้องทุกข์ ดังนี้ ไม่รับเรื่องร้องทุกข์ไว้พิจารณา ยกคำร้องทุกข์ หรือให้แก้ไข หรือยกเลิกคำสั่งและให้เยียวยาความเสียหายให้ผู้ร้องทุกข์ หรือให้ดำเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
คำวินิจฉัยร้องทุกข์ของผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปให้เป็นที่สุด และให้ผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุ แห่งการร้องทุกข์ดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยนั้นในโอกาสแรกที่ทำได้ และเมื่อได้ดำเนินการ ตามคำวินิจฉัยร้องทุกข์นั้นแล้ว ให้แจ้งให้ผู้ร้องทุกข์ทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว ในกรณีที่ผู้ร้องทุกข์ไม่เห็นด้วยหรือไม่พอใจกับคำวินิจฉัยร้องทุกข์ของผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไป สามารถใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
คำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร ให้เป็นที่สุด และให้ผูกพันผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่ง การร้องทุกข์และผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะต้องปฏิบัติตามนับแต่วันที่กำหนดไว้ในคำวินิจฉัยร้องทุกข์นั้น ในกรณีที่ ผู้ร้องทุกข์ไม่เห็นกับคำวินิจฉัยร้องทุกข์ของ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร สามารถใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองต่อไปได้

การพิทักษ์ระบบคุณธรรม

ระบบคุณธรรมในความหมายของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2554 นั้น หากอธิบายความหมายของ “คุณธรรม” จะมี 2 ความหมายที่แตกต่างกัน ดังนี้
“คุณธรรม” ในภาษาไทยตรงกับภาษาอังกฤษ 2 คำ คือ VIRTUE และ MERIT โดยภาษาอังกฤษ ทั้งสองคำนี้ หมายถึง “ความดีงาม” เหมือนกัน แต่ VIRTUE เป็นความดีงามทางจิตภาพ (Mental) คือ ความดีงามในจิตใจ ซึ่งทำให้เคยชินกับการประพฤติดี ปฏิบัติดี MERIT เป็นความดีงามทางกายภาพ (Physical) คือ ความดีงามในความรู้ ทักษะ ความสามารถ และความประพฤติ
“ระบบคุณธรรม” ในการบริหารงานบุคคล (Merit System) หมายถึง ระบบที่ยึดถือความถูกต้อง ที่จะเป็นคุณต่อการบริหารคน ซึ่งได้แก่ การนำความรู้ ความสามารถ ทักษะ และความประพฤติของคน มาเป็นหลักในการบริหารคน หรือ เลือน ลด ปลด ย้ายคน
ในทางทฤษฎีที่ศึกษากันมาตั้งแต่อดีต ระบบคุณธรรม (Merit System) ยึดถือหลักสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ สมรรถนะ (Competency) ความเสมอภาคในโอกาส (Equality of Opportunity) ความมั่นคงในอาชีพการงาน (Security of Tenure) และความเป็นกลางทางการเมือง (Political Neutrality)
สมรรถนะ (Competency) ประกอบด้วย ความรู้ ทักษะ ความสามารถ และคุณลักษณะ เชิงพฤติกรรมอื่น ๆ ซึ่งในการบรรจุ แต่งตั้ง เลื่อนตำแหน่งข้าราชการ ต้องคำนึงถึง Competency ความรู้ ทักษะ ความสามารถ และคุณลักษณะเชิงพฤติกรรมอื่น ๆ ของคน
ความเสมอภาคในโอกาส (Equality of Opportunity) ความเสมอภาคในโอกาสเป็นหลักการ อีกประการหนึ่งของระบบคุณธรรม คือ ไม่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในการบริหารทรัพยากรบุคคล เช่น การบรรจุ แต่งตั้ง เลื่อนข้าราชการ ต้องให้โอกาสผู้มีคุณสมบัติอย่างเดียวกันได้รับการพิจารณาเลือกสรรด้วย โดยไม่ถือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เช่น จะเลือกแต่งตั้งเฉพาะคนที่มีถิ่นกำเนิดจากภาคใดภาคหนึ่งไม่ได้
ความมั่นคงในอาชีพการงาน (Security of Tenure) ความมั่งคั่งในการดำรงสถานภาพในอาชีพ การงาน เป็นหลักการอีกประการหนึ่งของระบบคุณธรรม คือ ต้องให้มีหลักประกันความมั่นคงในการดำรงสถานภาพของข้าราชการ การให้ข้าราชการออกจากราชการต้องทำเฉพาะกรณีที่หลักเกณฑ์และวิธีการ กำหนดไว้เท่านั้น หลักนี้ใช้ในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2476 จนถึงปัจจุบัน
ความเป็นกลางทางการเมือง (Political Neutrality) ความเป็นกลางทางการเมืองเป็นหลักการ อีกประการหนึ่งของระบบคุณธรรม คือ จะนำเหตุผลทางการเมืองมาใช้ในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการไม่ได้ หลักนี้ใช้ในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2476 จนถึงปัจจุบัน ส่วนต่างประเทศบางประเทศใช้คำว่าเป็นกลางหรือ Impartiality คือ ถือข้างพรรคการเมืองใดฝ่ายเดียวไม่ได้
ปัจจุบันการบริหารงานบุคคลจะเกี่ยวพันกับเรื่องของระบบคุณธรรมอย่างใกล้ชิด เพราะอิทธิพลของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เน้นการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ยึดหลักความเสมอภาค และห้ามมีการเลือกปฏิบัติแบบไม่เป็นธรรม ทำให้สังคมมองว่าระบบคุณธรรมเป็นระบบที่ให้ความยุติธรรมสำหรับการบริหารงานบุคคลที่ดีที่สุด เพราะเป็นระบบที่ให้ความเสมอภาคในโอกาส ยึดหลักความรู้ ความสามารถของคนทำงาน ให้ความมั่นคงในอาชีพ รวมทั้งไม่เอนเอียงไปตามอิทธิพลทางการเมือง ข้อเรียกร้องต่อความยุติธรรมในการบริหารงานบุคคลภาครัฐในอดีตเคยรุนแรงจนส่งผลถึงขนาดมีการลอบยิงประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาจนเสียชีวิตมาแล้ว สิ่งนี้ทำให้ในที่สุดสหรัฐอเมริกาต้องออกกฎหมายจัดตั้งคณะกรรมการข้าราชการซึ่งมีลักษณะเหมือน ก.พ. ขึ้นมาสำหรับดูแลและพิทักษ์ระบบคุณธรรม ในการบริหารงานบุคคลภาครัฐ (Watchdog of Merit System) ซึ่งได้กลายมาเป็นต้นแบบของการบริหาร งานบุคคลด้วยระบบคุณธรรมของประเทศไทยในทุกวันนี้
ระบบคุณธรรมจะมีลักษณะตรงข้ามกับระบบอุปถัมภ์ (Patron-Client System) หรือระบบ พรรคพวก (Spoil System) ที่ไม่ยึดความรู้ ความสามารถ ทักษะ ความประพฤติของคนในการรับ เลื่อน ลด ปลด ย้ายคน แต่จะ ยึดความเป็นพรรคพวก ญาติพี่น้อง หรือเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก
โดยเหตุที่ขอบเขตความหมายของระบบคุณธรรมตามทฤษฎีไม่เปิดกว้างถึงผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ของชาติ เมื่อนำระบบคุณธรรมมาใช้ในการบริหารทรัพยากรบุคคลของข้าราชการในปัจจุบัน ระบบคุณธรรม อย่างเดียวจึงไม่สนองตอบความต้องการของประเทศ ด้วยเหตุดังกล่าวรัฐจึงได้พยายามขยายหลักของ ระบบคุณธรรมออกไปให้กว้างกว่าเดิม โดยนำความหมายใหม่มาบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
“มาตรา 42 การจัดระเบียบข้าราชการพลเรือนสามัญตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คำนึงถึง ระบบคุณธรรมดังต่อไปนี้

(1) การรับบุคคลเพื่อบรรจุเข้ารับราชการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต้องคำนึงถึงความรู้ ความสามารถของบุคคล ความเสมอภาค ความเป็นธรรมและประโยชน์ของทางราชการ
(2) การบริหารทรัพยากรบุคคลต้องคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพขององค์กร และลักษณะของงานโดยไม่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
(3) การพิจารณาความดี ความชอบ การเลื่อนตำแหน่ง และการให้ประโยชน์อื่นแก่ข้าราชการ ต้องเป็นไปอย่างเป็นธรรมโดยพิจารณาจากผลงาน ศักยภาพ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม และจะนำความคิด เห็นทางการเมืองหรือสังกัดพรรคการเมือง มาประกอบการพิจารณามิได้
(4) การดำเนินการทางวินัยต้องเป็นไปด้วยความยุติธรรมและโดยปราศจากอคติ
(5) การบริหารทรัพยากรบุคคลต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง”

หลักคุณธรรมตามกฎหมายนี้ขยายความเพิ่มเติมจากหลักคุณธรรมดั้งเดิมเพื่อให้เหมาะสมกับบริบททางการเมืองไทยระบอบประชาธิปไตยและความต้องการของประเทศในยุคปัจจุบัน คือ หลักการยังยึดระบบคุณธรรมในการรับ เลื่อน ลด ปลด ย้าย แต่กฎหมายยังเปิดช่องให้ผู้มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน ที่มาจากนักการเมืองสามารถใช้ดุลพินิจในการรับ เลื่อน ลด ปลด ย้ายข้าราชการได้ในบางกรณี แต่ต้อง อยู่ภายใต้กรอบและเงื่อนไขของกฎหมายที่ให้คำนึงถึงประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและความต้องการ ของประเทศชาติ
เมื่อพิจารณามาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 หรือมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2554 เราอาจจะสรุปหลักคุณธรรมตามกฎหมายดังกล่าวได้ว่าเป็นหลักสมดุลระหว่าง 3 หลัก คือ หลักระบบคุณธรรม ตามทฤษฎีดั้งเดิม (Merit System) หลักผลสัมฤทธิ์ ซึ่งได้แก่ ประสิทธิภาพ (Efficiency) และประสิทธิผล (Efficiencies) ในการบริหารราชการแผ่นดิน และหลักสนองตอบความต้องการของราชการและของประเทศ(Responsiveness) หลักทั้ง 3 ประการ เป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องคํานึงในการรับ เลื่อน ลด ปลด ย้ายข้าราชการ โดยมีรายละเอียด คือ

  1. หลักระบบคุณธรรมตามทฤษฎีดั้งเดิม ได้แก่ การคำนึงถึง ความรู้ ความสามารถ ความเสมอภาค ในโอกาส ความมั่นคงในอาชีพราชการและความเป็นกลางทางการเมืองในการรับ เลื่อน ลด ปลด ย้ายคน
  2. หลักผลสัมฤทธิ์ ซึ่งได้แก่ การคำนึงถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่จะเกิดขึ้นกับราชการ ซึ่งการรับ เลื่อน ลด ปลด ย้ายคน ผู้มีอำนาจบริหารงานบุคคลต้องพิจารณามาจากผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ ประสบการณ์อันเป็นที่ยอมรับ วินัยและความประพฤติที่เหมาะสม การวางตัว มนุษยสัมพันธ์ ตลอดถึง การทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี
  3. หลักสนองตอบความต้องการของราชการและของประเทศ ซึ่งได้แก่ การคำนึงถึงประโยชน์ ให้เกิดขึ้นกับราชการและประเทศสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชน โดยผู้ที่จะทำหน้าที่ตอบคำถามเหล่านี้ ได้ดีที่สุด คือ ผู้มีอำนาจที่มาจากนักการเมืองทั้งหลาย เพราะต่างรู้ความต้องการของประชาชน ทำให้รู้ว่าสิ่งใดจะทำให้ราชการมีประโยชน์ สามารถทำประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศชาติ ฉะนั้น กฎหมายจึงไม่ห้ามผู้บริหารที่เป็นนักการเมืองใช้ดุลพินิจในการรับ เลื่อน ลด ปลด ย้ายคนของราชการได้โดยชอบ เพียงแต่ มีเงื่อนไขว่าการรับ เลื่อน ลด ปลด ย้ายข้าราชการต้องยึดหลักคุณธรรมและผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดกับ ระบบราชการ รวมทั้งผลประโยชน์ของราชการและประเทศชาติด้วย ฉะนั้น การบริหารงานบุคคลที่ถูกต้อง ในปัจจุบันจึงต้องยึดเหตุผลที่คำนึงถึงระบบคุณธรรมซึ่งเป็นการสนองตอบต่อความต้องการของประชาชน และยึดผลประโยชน์ของประเทศควบคู่ไปด้วยอย่าง “สมดุล”
    นอกจากนี้ในมาตราเดียวกันของกฎหมายดังกล่าวยังได้กำหนดให้ผู้มีอำนาจในการพิจารณา บริหารงานบุคคลคนต้องให้ความเป็นธรรมในการพิจารณา (Fairness) ด้วย โดยกฎหมายบัญญัติว่าผู้มีอำนาจพิจารณาต้องสุจริต ไม่อคติและไม่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
    สำหรับการคุ้มครองระบบคุณธรรมในปัจจุบันกำหนดไว้ในมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2554 ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร เห็นว่ากฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใดที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ และมุ่งหมายให้ใช้บังคับ เป็นการทั่วไปไม่สอดคล้องกับระบบคุณธรรมตามมาตรา 41 ให้ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร แจ้งให้หน่วยงาน หรือผู้ออกกฎระเบียบ หรือคำสั่งดังกล่าวทราบ เพื่อดำเนินการแก้ไขหรือยกเลิกตามควรแก่กรณี”
    จากบทบัญญัติของมาตราดังกล่าวให้อำนาจ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร ในการพิจารณากฎ ระเบียบ หรือคำสั่งที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2554 และมุ่งหมายให้ใช้บังคับเป็นการทั่วไปว่าสอดคล้องกับระบบคุณธรรม ตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน หรือไม่ โดยในการพิจารณาว่ากฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใดออกมาโดยขัดกับระบบคุณธรรมนั้น ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร อาจหยิบยกขึ้นมาพิจารณาได้ 2 ทาง คือ ผู้อุทธรณ์ หรือผู้ร้องทุกข์ที่โต้แย้งมาในคำอุทธรณ์หรือคำร้องทุกข์ของตนเองเพื่อให้ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร เห็นว่า กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งที่นำมาใช้กับตนเองนั้น ขัดต่อระบบคุณธรรม หรือ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร เห็นเอง จากการดำเนินกระบวนพิจารณาและแสวงหาข้อเท็จจริงตามคำอุทธรณ์และคำร้องทุกข์แล้ว เห็นว่า กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งที่หน่วยงานหรือผู้มีอำนาจออกกฎ ระเบียบ หรือคำสั่งนั้น ออกมาโดยขัดต่อ ระบบคุณธรรม
    เมื่อ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร เห็นว่า กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใดที่ออกมาไม่สอดคล้องกับ ระบบคุณธรรม ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร จะแจ้งให้หน่วยงานหรือผู้ออกกฎ ระเบียบ หรือคำสั่งดังกล่าวทราบ เพื่อให้ดำเนินการแก้ไข ให้สอดคล้องกับระบบคุณธรรมหรือยกเลิกตามควรแก่กรณีต่อไป

สื่อมัลติมีเดีย ‘รู้จัก ก.พ.ค’