นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านทุจริตของกรุงเทพมหานคร (ศตท.กทม.) ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้อง War Room ศตท.กทม. สำนักงาน ก.ก. ชั้น 5 และผ่านระบบออนไลน์ พร้อมขับเคลื่อนการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการติดตาม การต่อต้านทุจริตของกรุงเทพมหานคร (ศตท.กทม.)โดยประเด็นสำคัญจากที่ประชุมวันนี้ มีมติเห็นชอบให้ผู้อำนวยการ ศตท.กทม. เป็นผู้พิจารณาแต่งตั้งหัวหน้าสำนักงาน ก.ก. หรือผู้แทน ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและ/หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เป็นคณะทำงาน หรือกำหนดพื้นที่หรือภารกิจ ในการตรวจสอบเชิงรุกและตรวจสอบเรื่องร้องเรียนได้โดยตรง
ในการนี้ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้ประธานกลุ่มการปฏิบัติงานของสำนักงานเขตแจ้งผู้อำนวยการเขตทุกเขตให้กำชับหน่วยงานและสถานศึกษาในพื้นที่ทราบถึงการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของ ศตท.กทม. และให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมในเรื่องของข้อมูล/เอกสาร สำหรับการลงพื้นที่ตรวจสอบของคณะผู้บริหาร หากพบเห็นพฤติกรรมการทุจริตหรือการเรียกรับสินบนให้แจ้งเบาะแสทันที พร้อมเน้นย้ำว่า ทุกหน่วยงานต้องให้ความสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่อย่างโปร่งใสตามนโยบายของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ ที่ประชุมวันนี้ได้มีการรายงานเพื่อทราบถึงประเด็นสำคัญจากการประชุม ศปท.กทม. ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งมีรายละเอียด 4 ประการ ดังนี้
ประการที่ 1 กรุงเทพมหานครไม่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดกรณีทุจริตและประพฤติมิชอบได้ และไม่สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญาฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ ดังนั้น ในการจับกุมต้องมีตำรวจจาก บก.ปปป. ร่วมด้วย และปรับรูปแบบการรับเรื่องให้เป็นเชิงรุก บางเรื่องอาจจะรุกตรวจเป็นพิเศษ เช่น หาบเร่แผงลอย ส่วย ควรมีโครงสร้างของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะ แยกจากสำนัก สำนักงาน ก.ก. สำนักงานเขต และควรมีเกณฑ์ในการรับเรื่องที่ชัดเจน
ประการที่ 2 เห็นชอบให้ ศตท.กทม. ผลักดันนโยบาย เร่งรัด กำกับ ติดตาม การดำเนินมาตรการ/โครงการ/กิจกรรม จำนวน 9 มาตรการ/โครงการ/กิจกรรม
ประการที่ 3 เห็นชอบให้นำหลักเกณฑ์การกำหนดตำแหน่งประจำสำนักปลัดกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับต้น จำนวน 2 ตำแหน่ง ตำแหน่งประเภทอำนวยการ ระดับต้นหรือระดับสูง จำนวน 6 ตำแหน่ง ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ จำนวน 12 ตำแหน่ง ซึ่งได้กำหนดขึ้นเพื่อรองรับในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ถูกร้องเรียนที่ปรากฏหลักฐานชัดเจน ผู้มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมอยู่ระหว่างถูกสอบสวนทางวินัย หรือหย่อนประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ เป็นแนวทางการย้ายบุคคลที่มีความประพฤติไม่เหมาะสมเพื่อป้องกันและต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบของกรุงเทพมหานคร มาใช้ ทั้งนี้ ในการย้ายบุคคลที่มีเรื่องร้องเรียนกรณีทุจริต เรียกรับเงินหรืออามิสสินจ้างต่าง ๆ การใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ต่อตนเองหรือผู้อื่นให้เกิดผล ให้ใช้มาตรการอื่นประกอบด้วย ได้แก่ การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงควบคู่กับการสั่งพักราชการและให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามกฎ ก.ก. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2565 และกรณีผู้ดำรงตำแหน่งประเภทและระดับอื่น เช่น ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการลงมา ตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับอาวุโสลงมา เป็นต้น และรวมถึงข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานครด้วย หากมีความประพฤติไม่เหมาะสมอย่างเดียวกัน ให้ใช้มาตรการสั่งช่วยราชการของผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามกฎหมาย และให้ใช้มาตรการอื่นประกอบด้วย ได้แก่ การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงควบคู่กับการสั่งพักราชการและให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามกฎ ก.ก. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2565
ประการที่ 4 เห็นชอบให้รับเรื่องความร่วมมือในการตรวจสอบมาตรการเชิงรุกและการร่วมกันแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน กรณีการร้องเรียนปัญหาหาบเร่แผงลอย ตามที่ผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ท. นำเสนอ ไปปรับปรุงเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและได้มีการรายงานเพื่อทราบในเรื่องของการติดตามคดีทุจริต ซึ่งสำนักงาน ก.ก. ได้มีการจัดทำระบบติดตามฯ แยกตามประเภทข้อมูลการทุจริต 10 ประเภท เรื่องนโยบายต่อต้านการรับสินบน (Anti-Bribery Policy) เรื่องสถิติปริมาณงานเกี่ยวกับการทุจริตตามอำนาจหน้าที่ของ ก.ก. ปี พ.ศ. 2562 – 2565 ใน 4 สายงาน ได้แก่ สายงานโยธา สายงานจัดเก็บรายได้ สายงานเทศกิจ และสายงานสาธารณสุข และเรื่องข้อมูลเรื่องทุจริตที่มีการร้องเรียนไปยังสำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำนักงานเลขานุการปลัดกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ถึงปัจจุบัน ใน 4 สายงาน ได้แก่ สายงานโยธา สายงานจัดเก็บรายได้ สายงานเทศกิจ และสายงานสาธารณสุข